ความขัดแย้งกับพระเชษฐภคินี ของ เตเรซาแห่งเลออน เคาน์เตสแห่งโปรตุเกส

ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 เตเรซากับอ็องรีเป็นข้าราชบริวารของกษัตริย์แห่งเลออนและกัสติยา แต่หลังกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1109 อูร์รากา พระธิดาตามกฎหมายและทายาทของพระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์[3] เป็นสมเด็จพระราชินีนาถอูร์รากาที่ 1 แห่งกัสติยา อ็องรีได้บุกเลออนด้วยความหวังที่จะได้ดินแดนเพิ่ม เมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1112 เตเรซาถูกทิ้งไว้ให้รับมือกับสถานการณ์ทางทหารและทางการเมือง เธอทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองและพิชิตดินแดนทางตอนใต้กลับคืนมาจากชาวมัวร์ได้จนถึงแม่น้ำมงเดกู ชัยชนะของเธอเหนือกูอิงบราทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2 ขนานนามและให้การยอมรับเธอเป็น "พระราชินี" เธอปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ในฐานะ "พระธิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซและผู้ได้รับเลือกจากพระเจ้า" ทั้งยังถูกขนานนามว่าพระราชินีอย่างชัดเจนในเอกสารปี ค.ศ. 1117 จึงนับได้ว่าเธอคือพระมหากษัตริย์คนแรกของโปรตุเกส[4]

ปี ค.ศ. 1116 เตเรซาพยายามขยายอำนาจด้วยการต่อสู้กับพระราชินีนาถอูร์กา พี่สาวต่างมารดา ทั้งคู่ต่อสู้กับอีกครั้งในปี ค.ศ. 1120 ด้วยความมุ่งมั่นอยากได้ส่วนแบ่งก้อนโตในมรดกเลออน เตเรซาที่เป็นม่ายจึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบา ขุนนางกาลิเซียผู้ทรงอำนาจที่ได้ทิ้งภรรยาคนแรกมาอยู่กินกับเธออย่างเปิดเผย เขาทำหน้าที่ดูแลพรมแดนริมแม่น้ำมงเดกูทางตอนใต้ ปี ค.ศ. 1121 หลังถูกกองทัพของพระราชินีนาถอูร์รากาโจมตี เตเรซาล่าถอยออกจากชายฝั่งทางซ้ายของแม่น้ำมีญู กองทัพของเธอปราชัยและแตกพ่าย สุดท้ายเธอได้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในปราสาทลัญโญซูและถูกอูร์รากาปิดล้อมจับกุมตัว ด้วยความช่วยเหลือของอัครมุขนายกแห่งซานเตียโกเดกอมโปสเตลาและอัครมุขนายกแห่งบรากาสองพี่น้องร่วมบิดาได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกันภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเตเรซาจะเป็นอิสระหากยินยอมที่จะครอบครองเคาน์ตีโปรตุเกสในฐานะข้าราชบริวารของราชอาณาจักรเลออน ซึ่งเธอได้ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว